เสริมเขี้ยวเล็บเกษตรกรดันสมุนไพรสู่ระดับโลก

ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

นครพนม * มทร.ธัญบุรีลงพื้นที่พบกลุ่มผู้ประกอบการ-เกษตรกรเกี่ยวข้องกับสมุนไพร จัดอบรมให้ความรู้เพิ่มเติม หวังเสริมเขี้ยวเล็บภูมิปัญญาชาวบ้าน ดันสมุนไพรไทยสู่ระดับโลก
เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม ที่สหกรณ์ออมทรัพย์ครูจังหวัดนครพนม เทศบาลเมืองนครพนม ผศ.ดร.มโน สุวรรณคำ สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี จ.ปทุมธานี ได้รับมอบหมายจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) นำคณะอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการเกษตร อาทิ นายกร วินท์วิชญ์ บุญพิสุทธินันท์, น.ส.พรทิพย์ ตันติวงศ์, น.ส.นิตยา พุทธธรรมรักษา จากวิทยาลัยการแพทย์แผนไทย โดยมีหน้าที่นำพืชสมุนไพรต่างๆ ตรวจสอบหาคุณค่าหรือประโยชน์ของพืชสมุนไพรมาใช้เป็นอาหาร ยา เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน พร้อมด้วย ผศ.สพญ.รุ้งสวรรค์ วรรณสุทธิ์, ผศ.ดร.วัลลภ พรหมทอง, นายชยพล คติการ จากคณะเทคโนโลยีการเกษตร ทำหน้าที่ตรวจพื้นที่ปลูกสมุนไพร แนะนำคัดเลือกพืชที่เหมาะสม พร้อมทั้งการดูแลพืชตั้งแต่ปลูกถึงเก็บเกี่ยวและนำออกจำหน่ายสู่ตลาด
โดยทั้งหมดรับหน้าที่เป็นวิทยากรอบรมเสริมสร้างความรู้แก่เกษตรกรจังหวัดนครพนม และผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับสมุนไพรจำนวน 41 ราย ซึ่งคณะอาจารย์จาก มทร.ธัญบุรีจะลงพื้นที่และทำงานเชิงลึกนำสมุนไพรที่เกษตรกรปลูกไปวิจัย รวมถึงการสร้างนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ใหม่ของสมุนไพรไทย เช่น พัฒนาเกษตรต้นน้ำให้เป็นปลอดสารเคมี โดยใช้ปุ๋ยอินทรีย์เพื่อสร้างมาตรฐานสำหรับผลิตภัณฑ์ รวมทั้งการเปิดโอกาสช่องทางใหม่ๆ ด้านการขายการตลาดทั้งในและต่างประเทศ โดยมุ่งสู่ตลาดที่มีศักยภาพสูง มีทีมที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการด้านสมุนไพรของจังหวัดนครพนมได้รับประโยชน์สูงสุดกับการเข้าร่วมโครงการครั้งนี้

ผศ.ดร.มโนเปิดเผยว่า ในปี 2561 มทร.ธัญบุรีได้ดำเนินโครงการให้มีความต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 จำนวน 9 จังหวัด ซึ่งเดิมมี 6 จังหวัดที่มีความเข้มแข็งแล้วคือ พิษณุโลก สระบุรี นครราชสีมา ขอนแก่น จันทบุรี และนครศรีธรรมราช และได้เพิ่มใหม่อีก 3 จังหวัดที่มีศักยภาพคือ น่าน ลำปาง และนครพนม โดยจัดกิจกรรมอบรมปฏิบัติการเพื่อยกระดับผู้ประกอบการและเกษตรกรที่มีธุรกิจเกี่ยวข้องกับสมุนไพรให้เติบโตอย่างมั่งมี มั่งคั่ง และยั่งยืน โดยการบริหารจัดการร่วมกันแบบเครือข่ายหรือคลัสเตอร์ ความหมายคือ การที่กลุ่มของธุรกิจและสถาบันที่เกี่ยวข้องมารวมตัวกันดำเนินกิจกรรมอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกัน มีความร่วมมือเกื้อหนุน เชื่อมโยงและเสริมกิจการซึ่งกันและกันอย่างครบวงจร เพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมกันในการเพิ่มผลิตภาพโดยรวม

“หัวใจสำคัญของคลัสเตอร์คือ ความร่วมมือ ตรงไหนที่ร่วมมือกันได้เพื่อไปแข่งขันกับผู้อื่นก็ร่วมกัน ตรงไหนที่ยังต้องแข่งขันกันก็ให้แข่งขันกันอย่างสร้างสรรค์ เช่น แข่งกันพัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ แข่งกันปรับปรุงกระบวนการผลิตเพื่อลดต้นทุน แต่ไม่แข่งขันกันโดยการตัดราคาคู่แข่ง” ผศ.ดร.มโนกล่าว

นายอุพร วงษ์หะนาม อายุ 62 ปี ราษฎรบ้านสร้างแห่ ต.กุดฉิม อ.ธาตุพนม กล่าวว่า เดิมมีอาชีพทำนา ใช้เวลาว่างผลิตผ้าพื้นเมืองจำหน่ายเป็นสินค้าโอท็อป ในสวนมีพืชสมุนไพรที่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ เช่น ตะไคร้หอม ขมิ้นชัน ว่านชักมดลูก ขมิ้นเครือ ดอกอัญชัน อยากให้คณะทีมวิจัยนำพืชเหล่านี้ไปตรวจในห้องแล็บ พร้อมแนะนำว่าควรจะปลูกดูแลรักษาอย่างถูกต้องเพื่อนำไปเป็นผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัยแก่ผู้บริโภค

น.ส.สุพิชชา สำลีพันธ์ อายุ 53 ปี ชาวบ้าน ต.ท่าค้อ อ.เมืองนครพนม บอกว่าเดิมประกอบอาชีพค้าขาย ต่อมาไปเรียนแพทย์แผนไทยที่กระทรวงสาธารณสุข เพราะที่บ้านมีสมุนไพรหลายชนิด เช่น รางจืด หญ้าหวาน มะตูมนิ่ม ดอกคำไทย และรากสามสิบ เป็นต้น จึงนำมาผลิตเป็นสเปรย์แก้เคล็ดขัดยอก การเข้าร่วมอบรมครั้งนี้ต้องการยกมาตรฐานสมุนไพรของตนให้มีศักยภาพเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ผู้บริโภคก็ได้ผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัยจากสารเคมีอีกด้วย.

Comments are closed.