มทร.ติวเข้มเครือข่ายสมุนไพรน่าน เล็งวิจัยใบหมี่-ใบเชียงดา หนุนแบรนด์ “ชีววิถีน้ำเกี๋ยน”

มทร.ติวเข้มเครือข่ายสมุนไพรน่าน เล็งวิจัยใบหมี่-ใบเชียงดา หนุนแบรนด์ “ชีววิถีน้ำเกี๋ยน”

น่าน – มทร.ธัญบุรียกทีมวิทยากรมือทองติวเข้มเครือข่ายสมุนไพรน่าน เตรียมวิจัยสรรพคุณใบหมี่-ใบเชียงดา ฯลฯ หนุนแบรนด์ “ชีววิถีน้ำเกี๋ยน”

 

วันนี้ (3 พ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผศ.ดร.มโน สุวรรณคำ ผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี และในฐานะหัวหน้าโครงการกิจกรรมคลัสเตอร์สมุนไพร ภายใต้โครงการสนับสนุนเครือข่าย SME ปี 2561 พร้อมด้วยทีมวิทยากรด้านวิชาการและเทคโนโลยี ร่วมกับ สสว.ได้จัดอบรมเพื่อพัฒนาและยกระดับเครือข่ายผู้ประกอบการและเกษตรกรที่เกี่ยวข้องกับด้านสมุนไพร ที่อาคารอเนกประสงค์ ต.น้ำเกี๋ยน อ.ภูเพียง จ.น่าน

โดยมี นายชูศิลป์ สารรัตนะ ประธานวิสาหกิจชุมชนชีววิถีตำบลน้ำเกี๋ยน และนางสาวศิรินันท์ สารมณฐี ผู้จัดการวิสาหกิจชุมชนฯ พร้อมด้วยเครือข่ายผู้ปลูกสมุนไพร 5 หมู่บ้านในพื้นที่ตำบลน้ำเกี๋ยน 120 ครัวเรือน เข้าร่วมการอบรม

 

ผศ.ดร.มโนกล่าวว่า ได้ดำเนินโครงการนี้มาตั้งแต่ปี 2560 มีการรวมตัวเป็นกลุ่มคลัสเตอร์สมุนไพรแล้ว 9 กลุ่มทั่วทุกภาค โดยมีเป้าหมายที่จะดำเนินกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนในกลุ่มธุรกิจสมุนไพรให้ครอบคลุมตั้งแต่กลุ่มต้นน้ำ ซึ่งเป็นผู้ปลูกสมุนไพร, กลุ่มกลางน้ำ คือผู้แปรรูปผลิตภัณฑ์ และกลุ่มปลายน้ำ คือผู้จำหน่าย

ซึ่งจังหวัดน่านมีกลุ่มวิสาหกิจชุมชนชีววิถีตำบลน้ำเกี๋ยนเป็นแกนนำเครือข่ายหลัก เนื่องจากชุมชนมีความเข้มแข็ง สภาพอากาศและภูมิประเทศเหมาะสมต่อการเพาะปลูกสมุนไพรที่มีคุณภาพ และการแปรรูปผลิตภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพ

สำหรับเนื้อหาในการอบรม ทางทีมวิทยากรของ มทร.ธัญบุรีได้เน้นการให้ความรู้และการพัฒนา โดยเฉพาะเรื่องเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว, การแปรรูปที่สามารถคงคุณสมบัติหรือฤทธิ์ทางสรรพคุณยาไว้ให้ได้มากที่สุดเพื่อคุณภาพของผลิตภัณฑ์

หลังจากได้เห็นต้นทุนพืชสมุนไพรและการพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่องของวิสาหกิจชุมชนชีววิถีตำบลน้ำเกี๋ยน จะได้นำสมุนไพร เช่น ใบหมี่ ใบเชียงดา และสมุนไพรอื่นๆ ไปทำงานวิจัยให้เกิดผลทางวิทยาศาสตร์ เพื่อมารองรับผลิตภัณฑ์ให้มีความน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น ควบคู่ไปกับการพัฒนานวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ เพื่อเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขันตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพรในอนาคต

“เราวางเป้าหมายไว้ว่า 5 ปีนับจากนี้จะสนับสนุนให้คลัสเตอร์สมุนไพรจังหวัดน่านยกระดับผลิตภัณฑ์กลายเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ให้แก่ชุมชน ที่จะร่วมกันปลูก ร่วมกันซื้อขาย และพัฒนาไปพร้อมๆ กัน”

 

ที่มา : mgronline.com

Comments are closed.