สสว.ดัน’9คลัสเตอร์’ดึงรายใหญ่ร่วมผลิต

กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2561

กรุงเทพธุรกิจ สสว.จับมือมทร.ธัญบุรี ผลักดัน 9 คลัสเตอร์ สมุนไพร วิจัยแปรรูปผลิตภัณฑ์เจาะตลาดไทย-ต่างชาติ หนุนค้าออนไลน์ ตั้งเป้าปี 64 ยอดขายกว่า 200 ล้าน พร้อมประสาน 10 โรงงานต่อยอดผลิตเชิงพาณิชย์ เสนอเชื่อมอุตสาหกรรมเป้าหมายการแพทย์และท่องเที่ยว

นายวชิระ แก้วกอ ผู้อำนวยการฝ่ายประสานเครือข่าย ผู้ให้บริการเอสเอ็มอี สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า สสว. ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) พัฒนาคลัสเตอร์สมุนไพร กรอบระยะเวลา 5 ปีตั้งแต่ ปี 2560-2564 โดยเริ่มจากการส่งเสริมให้มีกลุ่มคลัสเตอร์สมุนไพรในจังหวัดต่างๆ ได้ทั้งหมด 9 จังหวัด ประกอบด้วย เครือข่ายชีววิถีน้ำเกี๋ยน (น่าน) เครือข่ายไพรสบปราบ (ลำปาง) เครือข่ายไพรสองแคว (พิษณุโลก) เครือข่าย ภูมิพรรณไพร (สระบุรี) เครือข่ายจันท์พันไพร (จันทบุรี) เครือข่ายไพรเมืองย่า (นครราชสีมา) เครือข่ายไพรร้อยแก่นสารสินธุ์ (ขอนแก่น) เครือข่ายศรีพนมไพร (นครพนม) และเครือข่ายนักษัตรนครไพร (นครศรีธรรมราช)

ส่วนปี 2561 ได้สนับสนุนการพัฒนาทั้ง 9 กลุ่มให้มีความเข้มแข็ง จากนั้น ในปี 2562-2564 จะเน้นการพัฒนานวัตกรรม รวมทั้งจะหาตลาดที่เหมาะสมในแต่ละกลุ่มและการค้าผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งได้ ส่งเสริมให้รวมกลุ่มทำการค้าผ่านออนไลน์ เพื่อให้มีสินค้าที่หลากหลาย ทำให้ในปี 2561 มียอดการค้าผ่านออนไลน์กว่า 20 ล้านบาท คาดว่าจะเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท ในปี 2562 และในปี 2564 จะมียอดขาย ไม่ต่ำกว่า 200 ล้านบาท
“มทร.ธัญบุรี ร่วมมือกับท้องถิ่นนำภูมิปัญญาชาวบ้านมาวิจัยสารสกัดสำคัญที่มีผลระดับเซลล์ ยืนยันคุณสมบัติของสมุนไพรตามหลักวิชาการ และพัฒนาไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่ใช้งานสะดวก โดยการพัฒนาคลัสเตอร์สมุนไพรต้องเริ่มตั้งแต่ต้นน้ำให้ชาวบ้านปลูกสมุนไพรให้ได้คุณภาพ การเก็บเกี่ยวถูกต้อง และขั้นตอนการผลิตในโรงงาน มีการนำข้อมูลการตลาดมาปรับปรุงกลิ่น รูปแบบ เพื่อให้ตรงกับความต้องการของตลาด” เชื่อม”อุตฯการแพทย์-ท่องเที่ยว”

นายกรวินท์วิชญ์ บุญพิสุทธินันท์ อาจารย์ประจำวิทยาลัยการแพทย์แผนไทย มทร.ธัญบุรี กล่าวว่า มทร.ธัญบุรี ร่วม ส่งเสริมเอสเอ็มอีในธุรกิจสมุนไพรครอบคลุมตั้งแต่ ต้นน้ำ (ผู้ปลูก) กลางน้ำ (ผู้แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์) และปลายน้ำ (ผู้จำหน่าย) รวมถึงการบูรณาการร่วมกับหน่วยงาน ภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคการศึกษาใน ท้องที่ของแต่ละจังหวัด เป็นคลัสเตอร์ หรือเครือข่ายที่ครอบคลุมทั่วทุกภาคของประเทศ
ในขณะนี้อุตสาหกรรมสมุนไพรมีความสำคัญมากขึ้น เพราะสกัดเป็นสารสกัดที่มีมูลค่าเพิ่มสูงใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ ทั้งผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เครื่องสำอาง ยาและน้ำมันหอมระเหยที่ใช้ในสปา โดย ติดอันดับ 1 ใน 3 อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูงสุดในโลก ส่วนอันดับ 1.ยานยนต์และโลจิสติกส์ 2.ไอที 3.อาหาร สมุนไพรและเครื่องสำอาง ขณะที่ในไทยพบว่า อุตสาหกรรมสมุนไพรมีมูลค่ารวมกว่า 1 แสนล้านบาท และ ในอนาคตจะมีมูลค่าสูงขึ้นเรื่อยๆ
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมสมุนไพรมีมูลค่า เพิ่มสูงมาก โดยราคาวัตถุดิบ 100-200 บาทต่อกิโลกรัม หากสกัดแปรรูปเป็นอาหารเสริม จะมีราคาเพิ่มเป็นหลายพันบาทต่อกิโลกรัม และบางชนิดมีราคาสูงมาก โดยกรณีถั่งเช่า ที่จำหน่ายในรูปแบบวัตถุดิบมีราคา 2 หมื่นบาทต่อกิโลกรัม ถ้าสกัดแปรรูปเป็นแคปซูลจะมีราคาเพิ่ม 3 เท่า ซึ่งขณะนี้ มทร.ธัญบุรีได้วิจัยผลิตถั่งเช่าร่วมกับจีน รวมทั้งวิเคราะห์ถั่งเช่ากว่า 400 สายพันธุ์

“อุตสาหกรรมสมุนไพรเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐ 2 กลุ่ม คือ เทคโนโลยีชีวภาพในการผลิตเป็นยา- สารออกฤทธิ์ในชีวเคมีต่างๆ และอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ใช้เป็นเครื่องหอมระเหยในสปา หากนำอุตสาหกรรมสมุนไพรเชื่อมต่อกับมาตรการส่งเสริมภาครัฐได้ก็จะช่วยให้เกิดการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด”
ดึง10โรงงานใหญ่ร่วมผลิต
นอกจากนี้ มทร.ธัญบุรี ส่งนักวิจัยไปช่วยเหลือคลัสเตอร์สมุนไพรทั้ง 9 กลุ่มทำการวิจัยสร้างนวัตกรรมการผลิตสารสกัด การแปรรูปและการผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐาน มีความปลอดภัย เช่น การสกัด ว่านตาลเดี่ยวนำน้ำมันสกัดนาโนใช้ใน เครื่องสำอางทำให้ผิวชุ่มชื่น สารสกัดจากว่านหางจระเข้เพื่อผลิตครีมบำรุงผิว สารสกัดจากกระดังงาผลิตน้ำมันหอมระเหยใช้ในธุรกิจสปา สินค้าสมุนไพรที่ร่วมวิจัยกับชาวบ้านจะใช้ตราสัญลักษณ์ มทร.ธัญบุรี ลงในผลิตภัณฑ์ เพื่อรับรองคุณภาพ มาตรฐาน และความปลอดภัย
นายกรวินท์วิชญ์ กล่าวว่า แต่ละกลุ่มคลัสเตอร์มีโรงงานแปรรูปขนาดกลางและเล็กและรองรับคำสั่งซื้อได้จำกัด ทำให้ มทร.ธัญบุรี ประสานความร่วมมือกับโรงงาน ขนาดใหญ่ 10 ราย เพื่อเป็นโรงงานรับจ้างผลิตให้กับคลัสเตอร์สมุนไพรเหล่านี้ ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มผลิตสินค้าให้กับชุมชนแล้ว 2-3 โรงงาน

สำหรับตลาดส่งออกของสินค้าสมุนไพรไทยที่สำคัญคือประเทศจีนและญี่ปุ่น ส่วนใหญ่ ไทยจะส่งไปในรูปแบบวัตถุดิบ รองลงมาเป็น ประเทศเพื่อนบ้านและอาเซียน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ส่วนกลุ่มสมุนไพรด้านสปา ส่วนใหญ่จะไปตลาดยุโรป ซึ่งคู่แข่งสำคัญของไทย คือ จีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น สินค้าที่แข่งขันกันมากจะอยู่ในกลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร

Comments are closed.