บทสรุปผู้บริหาร

 กิจกรรมพัฒนาเครือข่ายสมุนไพร ภายใต้โครงการสนับสนุนเครือข่าย SME ปี 2561 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี  ได้รับมอบหมายจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ให้รับผิดชอบดำเนินกิจกรรมนั้น มีการดำเนินงานมาเป็นปีที่ 2 จากเมื่อปี 2560 ปีที่ 1 นั้นมีสมาชิกมาร่วมโครงการ 940 ราย และมีการรวมกลุ่มเป็นคลัสเตอร์ 9 คลัสเตอร์ ซึ่งทำให้มีคลัสเตอร์ที่ทางทีมที่ปรึกษาคัดเลือกมาพัฒนาต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ในปี 2561 จำนวน 6 คลัสเตอร์ เนื่องจากการทำงานที่มีความเข้มแข็งของสมาชิกคลัสเตอร์นั้นๆ

ปีที่ 2 ปี 2561 นี้ ทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี  ได้มีเครือข่าย SME ที่ได้รับการพัฒนาศักยภาพในการดำเนินธุรกิจในด้านต่างๆเป้าหมาย 5 เครือข่าย ทำได้ 9 เครือข่าย โดยมีเครือข่ายต่อเนื่อง 6 เครือข่าย คือ เครือข่ายไพรสองแคว ตัวแทนของจังหวัดพิษณุโลก, เครือข่ายภูมิพรรณไพร ตัวแทนของจังหวัดสระบุรี, เครือข่ายจันท์พันไพร ตัวแทนของจังหวัดจันทบุรี, เครือข่ายไพรเมืองย่า ตัวแทนของจังหวัดนครราชสีมา, เครือข่ายไพรร้อยแก่นสารสินธุ์ ตัวแทนของจังหวัดขอนแก่น และเครือข่ายนักษัตรนครไพร ตัวแทนของจังหวัดนครศรีธรรมราช และเครือข่ายใหม่ที่มีการรวมตัวกันในปี 2561 มี 3 คลัสเตอร์ คือ เครือข่ายชีววิถีน้ำเกี๋ยน ตัวแทนของจังหวัดน่าน, เครือข่ายไพรสบปราบ ตัวแทนของจังหวัดลำปาง และเครือข่ายศรีพนมไพร ตัวแทนของจังหวัดนครพนม โดยมีแผนพัฒนาเครือข่าย 9 แผน มีกิจกรรมที่สมาชิกเข้าร่วมทั้งหมด 6 กิจกรรม คือ กิจกรรมที่ 1 การรับสมัครเข้าร่วมโครงการได้สมาชิกมา 899 ราย จากนั้นเป็นกิจกรรมที่ 2 การประชุมกลุ่มผู้นำเครือข่ายและ CDA มีผู้เข้าร่วมจำนวน 39 ราย ประกอบด้วย CDA จำนวน 35 ราย และเลขานุการ 4 ราย, กิจกรรมที่ 3 การจัดทำแผนพัฒนาเครือข่าย มีผู้เข้าร่วมจำนวน 899 ราย, กิจกรรมที่ 4 การสนับสนุนและเสริมสร้างความเข้มแข็ง     มีผู้เข้าร่วมจำนวน 899 ราย, กิจกรรมที่ 5 การสนับสนุนและส่งเสริมการตลาดในเชิงรุก ผู้เข้าร่วมจำนวน 35 ราย และกิจกรรมที่ 6 การพัฒนาศักยภาพของ Service Provider ผู้นำเครือข่ายและ CDA ผู้เข้าร่วมจำนวน 173 ราย และสร้างผู้นำเครือข่าย ผู้ประสานงานเครือข่าย ได้  35 ราย จากเป้าหมาย 15 ราย

ผลลัพธ์ของกิจกรรมพัฒนาเครือข่ายสมุนไพร ภายใต้โครงการสนับสนุนเครือข่าย SME ปี 2561 ได้เครือข่าย SME ที่ได้รับการพัฒนาศักยภาพในการดำเนินธุรกิจในด้านต่างๆ มีความเข้มแข็ง 9 เครือข่าย ผู้ประกอบการ SME ในเครือข่ายที่เข้าร่วมโครงการสามารถลดต้นทุนและเพิ่มรายได้รวมเป็น 43,555,000บาท  มีการนำนวัตกรรม งานวิจัย กลยุทธ์ หรือแนวทางการดำเนินงาน ที่ได้รับจากการพัฒนาศักยภาพทางธุรกิจไปใช้ในการดำเนินธุรกิจ 17 ราย และเกิดการขยายการลงทุน / จ้างงานไม่น้อยกว่าร้อยละ 55

ในส่วนของการสร้างโอกาสตลาดทั้งในและต่างประเทศทางคลัสเตอร์สมุนไพรได้มีการผลักดันส่งเสริมให้มีการออกบูทขายของในงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ ครั้งที่ 15 และการทำ Business Matching ต่างประเทศไปยังประเทศมัลดีฟส์ เนื่องจากเป็นประเทศที่มีศักยภาพทั้งในด้านเศรษฐกิจ และการเป็นจุดศูนย์กลางไปยังประเทศอื่นๆเช่น ศรีลังกา อินเดีย และทวีปยุโรป

จากผลการดำเนินงานข้างต้น การพัฒนาเครือข่าย/คลัสเตอร์สมุนไพร ในปี 2561 นี้ จึงทำให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้รับการพัฒนาอย่างเข้มข้นบนหลักการ “นวัตกรรมนำงานวิจัย” และยังกำลังเริ่มก่อตัวเป็นคลัสเตอร์สมุนไพรแห่งชาติ โดยเตรียมการเป็น Social Enterprise Company  ทางคณะทำงานมีความมุ่งมั่น เพื่อให้ผลสำเร็จบรรลุตามวัตถุประสงค์ของโครงการฯ ทุกประการ และคาดหวังว่าคณะกรรมการตรวจรับงานจะเห็นชอบในผลสำเร็จของงาน นอกจากนี้หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับความกรุณาสนับสนุนให้ดำเนินงานโครงการฯ ในระยะต่อไป

คณะทำงาน
กิจกรรมพัฒนาเครือข่ายสมุนไพร
ภายใต้โครงการสนับสนุนเครือข่าย SME ปี 2561
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี

บทสรุปผู้บริหารคลัสเตอร์61 (184.2 KiB, 73 downloads)

Comments are closed.